ประวิติความเป็นมา
วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล ๒ จังหวัดเพชรบุรี สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มีพื้นที่ดำเนินการจริงในปัจจุบันประมาณ 47 ไร่ ตั้งอยู่ ณ บ้านเลขที่ 62 หมู่ 6 บ้านหนองจันทร์ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 032-772461 โทรสาร 032-772461
วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล
ร่วมกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมขยายโอกาสของการศึกษาให้กับนักเรียนด้อยโอกาสเป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์สาอาชีวศึกษา ตลอดระยะเวลากว่า 23 ปี ที่วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล ได้ปฏิบัติงานร่วมกับโรงเรียนวังไกลกังวล มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โดยมีท่านขวัญแก้ว วัชโรทัย เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนมาโดยตลอด ท่านได้เห็นความแออัดของสถานที่ ความต้องการของผู้เรียนในสายอาชีพเพิ่มขึ้นในแต่ละปี มีผู้สมัครเรียนปีละ 1,800-2,000 คน แต่รับได้เพียง 750 คน วิทยาลัยฯเป็นสถานที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน ควรได้รับการขยายโอกาสให้รับนักเรียน นักศึกษาและเปิดสอนวิชาชีพได้มากยิ่งขึ้น ท่านขวัญแก้ว วัชโรทัย จึงอนุญาตให้ใช้ที่ดินที่คุณปรียา ฉิมโฉม ได้ทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และ ทรงพระราชทานให้มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านหนองจันทร์ ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ขนาดพื้นที่ 27 ไร่ 1 งาน 68 ตารางวา และดำริให้วิทยาลัยฯ ได้ดำเนินการตามแนวพระราชประสงค์ ด้วยการใช้ประโยชน์ที่ดินแปลงนี้จัดตั้งเป็น ..“ ศูนย์การเรียนรู้เฉลิมพระเกียรติ” “ ทำหน้าที่เป็นเมืองหน้าด่านของเมืองหลวงอีกแห่งหนึ่ง” วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล จึงได้จัดทำโครงการหารายได้สร้างศูนย์การเรียนรู้เฉลิมพระเกียรติฯโดยมีท่านขวัญแก้ว วัชโรทัย เป็นที่ปรึกษา ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างพระเครื่องบูชาชุดพระเบญจภาคี ภ.ป.ร. เพื่อมอบให้กับผู้บริจาคทรัพย์สมทบทุน ปัจจุบันมีเงินสมทบแล้วกว่า 160 ล้านบาท วิทยาลัยฯ ได้จัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีก 20 ไร่ รวมเป็น 47 ไร่เศษ
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2551 ท่านขวัญแก้ว วัชโรทัย ได้หารือร่วมกันกับนายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการ การอาชีวศึกษาและคณะที่วิทยาลัยวิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล เพื่อเยี่ยมชมการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างวิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล และมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และได้ดูสถานที่ที่ดิน เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา จึงมีมติเห็นชอบตรงกันที่จะตั้งเป็นสถานศึกษาแห่งใหม่เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในมหามงคลสมัยแห่งการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา โดยจะให้ชื่อว่า “ วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการวังไกลกังวล ” โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะรับนักเรียนที่ด้อยโอกาสเข้าศึกษาในสาขาธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว เทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาอื่นในปีต่อไป เพื่อผลิตกำลังคนสนองความต้องการตลาดแรงงานด้านธุรกิจบริการในท้องถิ่นสร้างงานสร้างอาชีพโดยให้สถานประกอบการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง ในฐานะภาคธุรกิจเป็นผู้ใช้แรงงาน นักเรียนที่รับเข้าศึกษาจะเป็นนักเรียนแบบอยู่ประจำส่วนหนึ่ง และไปกลับส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นการฝึกการประกอบอาชีพจริงในสถานประกอบการพร้อมกับการเรียนควบคู่กันไป วิทยาลัยฯ แห่งนี้ก็เปรียบเสมือน “ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์สายอาชีวศึกษา” ซึ่งจะรับนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ นักเรียนจากหน่วยงานต่างๆที่มีความประสงค์ขอรับการช่วยเหลือซึ่งจะเป็นไปตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส
สำหรับวิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการวังไกลกังวลในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล ๒ ในวันที่ ..................พ.ศ. 2558 มีพื้นที่ดำเนินการทั้งสินประมาณ 47 ไร่ วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล ๒ จังหวัดเพชรบุรี สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการเป็นสถานศึกษา มีการจัดการศึกษาระบบปกติ และการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี การจัดการศึกษาแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เปิดการเรียนการสอน 3 ประเภทวิชา ได้แก่ ประเภทวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สาขางานการโรงแรม และ สาขางานการท่องเที่ยว ประเภทวิชาคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ ประเภทวิชาพาณิชยกรรม สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขาการบัญชี ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขาวิชาการบัญชี ประเภทวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ และประเภทวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สาขางานการโรงแรม และ สาขางานการท่องเที่ยว ประเภทวิชาคหกรรมศาสตร์ สาขาอาหารและโภชนาการ โดยมุ่งเน้นการศึกษาทักษะชีวิตฝึกภาคปฏิบัติจริง จะมีสถานประกอบการเข้ามาร่วมบริหารจัดการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพสนองความต้องการตลาดแรงงานในท้องถิ่นและภูมิภาค เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นเป็นแหล่งท่องเที่ยวนักเรียนจะได้รับการฝึกหัดกับครูฝึกจากสถานประกอบการ ฝึกภาคปฏิบัติจริงในวิทยาลัยซึ่งจะมีหอพัก มีอาคารโรงแรมที่พักบริการอยู่ภายในวิทยาลัย และจะได้รับการฝึกจริงในสถานประกอบการ